ศูนย์ยุติธรรมชุมชน

                              ประวัติความเป็นมา
 
                 การอำนวยความยุติธรรม การสร้างความเป็นธรรมและความสงบสุขในสังคม เป็นภารกิจหลักที่สำคัญยิ่งของกระทรวงยุติธรรม ที่จะต้องดำเนินการให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนในทุกพื้นที่และทุกระดับ แต่ภารกิจดังกล่าวหากรัฐเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการแต่เพียงฝ่ายเดียวคงไม่สามารถบรรลุผลอย่างยั่งยืนได้ หัวใจสำคัญของความสำเร็จในการดำเนินภารกิจดังกล่าว จึงอยู่ที่คนในชุมชน ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดได้สัมผัส มีส่วนได้ส่วนเสียกับความยุติธรรม      ความเป็นธรรม และความสงบสุขในชุมชนนั้นๆ ได้มีโอกาสและมีช่องทางที่จะเข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐในการ      แก้ปัญหาของชุมชนด้วยตนเอง โดยมีโอกาสในการร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมดำเนินการและร่วมรับประโยชน์จากการ   แก้ปัญหาร่วมกันในลักษณะของการเป็น "หุ้นส่วน"
 
                 เพื่อให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นอย่างแท้จริง โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นผู้อำนวยความยุติธรรมร่วมกับกระบวนการยุติธรรม จึงเกิดเป็นแนวความคิดของยุติธรรมชุมชนขึ้น ซึ่งความหมายของยุติธรรมชุมชนนั้น หลายท่านอาจมีความคิดเห็นแตกต่างกันไป บางท่านอาจเห็นว่า เป็นการควบคุมอาชญากรรมโดยชุมชนร่วมมือกับตำรวจในการป้องกันและลดปัญหาอาชญากรรม บางท่านอาจมองว่า เป็นการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรมและ/หรือศาลกับชุมชน โดยตระหนักว่าปัญหาอาชญากรรมเป็นประเด็นของปัญหาสังคม ซึ่งกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบต้องให้ความสำคัญเข้ามาทำงานร่วมกับชุมชนมากขึ้น บางท่านอาจมองว่าเป็นการลงโทษหรือแก้ไขผู้กระทำผิดโดยอาศัยความร่วมมือจากชุมชน โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน ในขณะที่บางส่วนมองไปที่บทบาทของการจัดการยุติธรรมแบบสมานฉันท์โดยชุมชนเป็นหลัก
 
                                                                             แม้ว่ามุมมองต่อคำว่า ยุติธรรมชุมชน หลายฝ่ายจะเข้าใจและมองยุติธรรมชุมชนแตกต่างกันไป แต่มีรากฐานสำคัญยิ่งสิ่งหนึ่งที่ทุกกลุ่มความคิดเห็นเหมือนกัน คือ การทำงานอย่างร่วมกันระหว่างหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมกับชุมชน ซึ่งหากให้นิยามของคำว่ายุติธรรมชุมชนแล้วคำนิยามควรจะประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ คือ
                                                                                  1. เป็นกิจกรรมด้านการป้องกันและควบคุมปัญหาอาชญากรรมในชุมชน
                                                                                  2. เป็นการดำเนินการโดยชุมชนเพื่อชุมชน
                                                                                  3. รัฐมีหน้าที่เป็นหุ้นส่วนร่วมกับชุมชน


                                                              ภารกิจของศูนย์ยุติธรรมชุมชนตำบล
                                                  (1) เฝ้าระวังและป้องกันปัญหาอาชญากรรม การทุจริตและประพฤติมิชอบ และการกระทำผิดกฎหมายต่าง ๆ
                                                  (2) รับเรื่องร้องเรียนหรือร้องทุกข์ปัญหาความไม่เป็นธรรมของประชาชน และรับแจ้งเบาะแสข้อมูลการ กระทำผิดกฎหมายต่าง ๆ ตลอดจนการช่วยเหลือ ดูแล ให้คำแนะนำ และแก้ไขปัญหาเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับความเดือดร้อน หรือผู้ที่ต้องการคำแนะนำเบื้องต้นทางด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
                                                  (3) ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทเกี่ยวกับความแพ่ง หรือความอาญาที่เป็นความผิดอันยอมความได้ หรือความผิดอื่นตามที่กำหนดโครงสร้างและภารกิจของศูนย์ยุติธรรมชุมชนตำบลในกฎกระทรวง หรือจัดการความ  ขัดแย้งในชุมชนตามหลักความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ การเสริมสร้างความสมานฉันท์ในชุมชน รวมถึงการติดตามดูแลให้มีการปฏิบัติตามข้อตกลงที่ได้มีการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทหรือความขัดแย้งนั้น
                                                  (4) ให้ความช่วยเหลือ ดูแล ผู้ที่ได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการกระทำความผิดและอาชญากรรม ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามอำนำจหน้าที่
                                                  (5) ให้ความช่วยเหลือ สงเคราะห์ และบำบัดแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดและผู้พ้นโทษ รวมทั้งผู้ถูกคุมประพฤติ ให้กลับตนเป็นพลเมืองดี และไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก
                                                  (6) สนับสนุนศูนย์ดำรงธรรม สำนักงานยุติธรรมจังหวัด รวมถึงส่วนราชการ หน่วยงาน และองค์กรส่วนปกครองท้องถิ่น ในการส่งเสริมความเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชน
                                                  (7) การส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมาย สิทธิและเสรีภาพ และกระบวนการยุติธรรมให้แก่ประชาชนในชุมชน
                                                  (8) พิจารณาส่งต่อเรื่องตาม (1) (2) (3) (4) (5) และ (6) ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือสำนักงานยุติธรรมจังหวัด รวมถึงการติดตามและแจ้งผลการดำเนินงานหรือผลความคืบหน้าแล้วแต่กรณี แก่ผู้ร้องหรือผู้แจ้งและผู้เกี่ยวข้อง
                                                  (9) จัดประชุมปรึกษาหารือร่วมกับเครือข่ายยุติธรรมชุมชนในพื้นที่ เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน รวมถึงการรับเรื่องจากเครือข่ายยุติธรรมชุมชนเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
                                                 (10) ดำเนินการจัดโครงการหรือกิจกรรมตามอำนาจหน้าที่ รวมทั้งการพัฒนาและส่งเสริมการจัดโครงการหรือกิจกรรมของเครือข่ายยุติธรรมชุมชนให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
                                                 (11) รายงานผลการดำเนินงานไปยังสำนักงานยุติธรรมจังหวัด
                                                 (12) อำนาจหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ผู้มีอำนาจกำหนด

            สื่อเสียงความรู้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 

******* กฎหมายง่ายจังแค่ฟังก็เข้าใจ จำนวน 365 ตอน*******

Visitors: 39,186